‘ศาลเตี้ยออนไลน์’ ผู้พิทักษ์ ‘ความดี’ ในโลกเสมือน?
18 ต.ค. 60 Social Media 1691

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง John Doe: Vigilante (2014) (ไม่ได้กล่าวถึงในเนื้อหา)

เลื่อนหน้าฟีดเฟซบุ๊กทุกวันนี้จะต้องเจอใครสักคนกดแชร์เรื่องราวจากแฟนเพจเฟซบุ๊กที่ “แฉ” เรื่องราวของผู้กระทำผิดในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

เพจลักษณะนี้มีมากขึ้นทุกวันจนนับนิ้วกันไม่ไหว ส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมจะเป็นเรื่องจากคลิปที่เห็นกันชัดเจน ตั้งแต่เรื่องขับรถปาดหน้า, ทำผิดมารยาทสังคม, อวดอ้างว่ารู้จักกับผู้มีบารมี ฯลฯ

อาจเรียกได้ว่าเป็น “ตู้ ปณ.รับเรื่องร้องทุกข์สมัยใหม่” ผ่านโซเชียลมีเดีย คล้ายกระบอกเสียงให้คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

บ่อยครั้งสื่อกระแสหลักเองก็หยิบเอาหลักฐานจากเพจเหล่านี้มารายงานต่อ โดยปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลบางส่วน

บางเพจอาจมีจุดยืนชัดเจนในการโต้ตอบเรื่องเฉพาะทาง ทั้งการเมือง ศาสนา และสังคม หลายครั้งการตัดสินความถูกต้องก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแอดมินผู้สร้างเพจ

แต่ที่ไปไกลกว่านั้นคือการโต้กลับต่อผู้ที่เชื่อว่ากระทำผิด เมื่อผู้คนเชื่อว่ากระบวนการทางกฎหมายอาจไม่ได้ผลหรือช้าเกินไป จึงเลือกผดุงความยุติธรรมด้วยตนเอง

มีตั้งแต่สะกิดเตือนกันแบบเบาๆ ไปจนถึงแบบรุนแรงที่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แฉข้อมูลส่วนตัว ชื่อจริง ที่ทำงาน ภาพหน้าตาคนในครอบครัว บางเพจสามารถไปล้วงเอาข้อมูลจาก “ทะเบียนราษฎร” มาแปะโชว์กันกลางเฟซบุ๊ก โดยมีการใช้คำพูดดูถูกดูหมิ่น ลดทอนความเป็นมนุษย์ เชียร์ให้มีการใช้ความรุนแรงหรือการกระทำโต้กลับในชีวิตจริงกับผู้ที่เชื่อว่ากระทำผิด

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ไม่มีการไต่สวนหาความจริง มีความพยายามจะสืบค้นข้อมูลและลงโทษกันเอง หลายครั้งสุ่มเสี่ยงสร้างอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินในโลกจริง

คนที่ตกเป็น “เป้าหมาย” นอกจากจะไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว บางกรณีความผิดที่ทำนั้นเป็นเพราะผิดไปจากความชื่นชอบหรือชุดความเชื่อของเพจซึ่งสร้างโดยคนกลุ่มหนึ่ง

ลักษณะเหล่านี้ถูกมองไม่ต่างจาก “ศาลเตี้ย” ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์

ถ้าตำรวจไม่จับโจร

เราจะจับกันเอง!

ลักษณะ “ศาลเตี้ย” ในโลกคู่ขนานเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศเปรูเมื่อปีที่แล้ว

เมื่อ เซซิเลีย โรดริเกซ แม่บ้านเปรูกับชาวบ้านในเมืองฮวนคาโยช่วยกันจับหัวขโมย ยื้อตัวไว้ถึง 2 ชั่วโมง แต่พอเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงไม่นานก็ปล่อยตัวขโมยไป

04
ภาพการลงโทษกันเองของประชาชน ที่แชร์ในกลุ่ม “จับขโมย” ของเปรู

ความผิดหวังในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เซซิเลียตัดสินใจสร้างเฟซบุ๊ก “Chapa tu choro” ที่มีความหมายว่า “จับขโมย” ด้วยมุ่งหมายว่าเป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในชุมชน และหากมีขโมยเข้ามาในชุมชนครั้งหน้าจะไม่มีการเรียกตำรวจ แต่จะจับมาลงโทษกันเอง

เฟซบุ๊กที่เซซิเลียสร้างทำให้เกิดปรากฏการณ์ตามมา โดยมีผู้สร้างหน้าเพจคล้ายๆ กันตามขึ้นมาอีกนับร้อยเพื่อใช้เป็นศาลเตี้ยลงโทษคนผิด มีการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมยโดยไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมายไต่สวนความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

หลายๆ เพจที่สร้างขึ้นตามมามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่มีลักษณะรุนแรง เช่น มีชายถูกเปลื้องผ้าและฟาดด้วยเข็มขัด หรือผู้หญิงแก้ผ้าเดินไปตามถนนโดยมีป้ายห้อยคอว่า “ฉันเป็นขโมย”

เซซิเลียออกมายอมรับว่า เธอไม่ได้คาดการณ์ถึงผลลักษณะนี้ การใช้ความรุนแรงขยายตัวไปไกลจนยากจะควบคุม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่คนต้องการคือ กระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนพึ่งพิงได้ โดยเซซิเลียรำพึงทิ้งท้ายไว้ว่า

“เราอาศัยอยู่ในรัฐล้มเหลว ซึ่งไม่ทำหน้าที่สร้างความปลอดภัยให้ประชาชน”

แอดมินเพจดังทะเลาะกัน

จนถูกแฉทะเบียนราษฎร

กรณีตัวอย่างในไทยไม่นานมานี้จากการทะเลาะกันของแฟนเพจ 2 แห่ง

เริ่มที่แฟนเพจชื่อ “น้องง” โพสต์แซวเพจต่อต้านเน็ตไอดอลแห่งหนึ่งว่าทำตัวเป็นไม้บรรทัดของสังคมออนไลน์ หลังเพจต่อต้านเน็ตไอดอลนั้นขุดคุ้ยเรื่องราวของเน็ตไอดอลที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมมาโดยตลอด

แอดมินแฟนเพจ "น้องง"
แอดมินแฟนเพจ “น้องง”

การทะเลาะของสองเพจดูเป็นเรื่องขำๆ สำหรับผู้ที่ติดตาม แต่เริ่มขำไม่ออกเมื่อหนึ่งในแอดมินเพจ “น้องง” ถูกนำข้อมูลจากทะเบียนราษฎรมาโพสต์

“ด้วยจริตเพจน้องมีความเป็นกบฏ, ต่อต้าน, เสรีนิยม ลักลั่นหลายอย่าง หลายเรื่อง Offensive เขาคงหมั่นไส้เลยเอาเรามาแฉ”

แอดมินเพจ “น้องง” เปิดเผยหลังเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว โดยเล่าว่ามีการแจ้งความไว้แล้วเพื่อป้องกันตนเองในระดับเบื้องต้น ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการปรึกษาทนาย

ส่วนการนำข้อมูลราชการมาเปิดเผยนั้น แอดมินเพจ “น้องง” คิดว่า น่าจะมาจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

“เพราะการเข้าถึงข้อมูลนี้คงไม่ใช่ประชาชนธรรมดา-พลเมืองตาดำๆ ที่จะเข้าถึงได้ น่าจะมีการใช้อำนาจในทางมิชอบ รู้สึกแย่ รู้สึกว่าละลาบละล้วงเกินไป ไม่ถูกต้อง รู้สึกไม่ดี บ้านเมืองมีหลักมีขื่อ

“เจ้าหน้าที่รัฐคิดว่าตัวเองมีอำนาจแล้วใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้องด้วยการเอาทะเบียนราษฎรมาแฉ ทำให้เรารู้สึกว่าเราตัวเล็กเหลือเกิน แล้วเราทำอะไรไม่ได้เลยเหรอ รู้สึกว่านี่เหรอคือคนที่ปกครองบ้านเมืองเรา ทำไมถึงทำตัวอย่างนี้”

แอดมินเพจ “น้องง” กล่าวถึงการเกิดขึ้นของเพจแฉโดยเฉพาะเพจล่าเน็ตไอดอลที่เป็นคู่กรณีนั้น คิดว่าเป็นเพจที่อยู่ในอุดมการณ์อนุรักษนิยมแบบขวาจัดที่สังคมไทยปลูกฝังกันมานาน เข้าใจว่าตัวเองถูกต้อง ใครที่ไปละเมิดบรรทัดฐานนี้ ไปเต้นแร้งเต้นกาโชว์เปิดนั่นเปิดนี่ก็จะโดนแฉ

“มันน่ากลัว เราไม่รู้เลยว่าเราจะทำผิดจริตเขาตอนไหนก็ได้”

“แล้วคนในสังคมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นศาลเตี้ยจัดการเน็ตไอดอลในโซเชียลพวกนี้ให้หายไปจากสังคม ถามว่าถูกต้องไหม คำว่า ‘ถูกต้อง’ นั้นถูกต้องในสายตาของใคร เฟซบุ๊กเป็นสื่อทางเลือก ไม่ใช่สื่อบังคับดู ถ้าคุณไม่อยากดูก็ปิดสิ

“เข้าใจว่าผิดจริตคนชั้นกลางผิดขนบธรรมเนียมประเพณีไทย แต่คุณไม่มีสิทธิจะไปเอาเขามาแฉทำเป็นศาลเตี้ย สังคมไม่ได้อะไรเลย นอกจากส่งเสริมการละเมิดสิทธิกันต่อไป” แอดมินเพจน้องงกล่าว

พึ่งพารัฐไม่ได้…

ไม่ใช่เหตุผลละเมิดคนอื่น

สำหรับการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่เชื่อว่ากระทำผิดตามเพจต่างๆ เหล่านี้ แอดมินเพจ “น้องง” มองว่าเรื่องนี้เป็นเพราะสังคมยังมีอุดมการณ์ฝ่ายขวาอยู่

“เข้าใจว่าอยากทำเป็นอุทาหรณ์ว่าไม่ควรทำอย่างนี้ แต่ต้องลดทอนข้อความ ปกปิดหน้าตาเขา ไม่ใช่การแฉหรือไปละเมิดเขา เป็นการสร้างวรรณกรรมชุดใหม่ออกมาให้สังคมได้ขบคิด เข้าใจและอยู่กันอย่างสวยงามมากยิ่งขึ้น คนทำงานสื่อหรือคนที่จะมาแฉควรเข้าใจเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเขาไม่ผิดจริง เขาก็จะมาฟ้องร้องได้”

เหตุที่ทำให้คนหันมา “ลงโทษกันเอง” แอดมินเพจน้องงเข้าใจว่าเป็นเพราะ “ความรู้สึกไม่มั่นคงในจิตใจของคน” ที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม จึงเกิดศาลเตี้ยขึ้นมา

“สังคมเราต้องหันหน้าเข้ามาคุยกัน ช่วยส่งเสริมในหลายๆ ด้าน มีรัฐที่พึ่งพาอาศัยได้และไม่ละเมิดสิทธิกัน สองสิ่งนี้ควรไปด้วยกัน”

แอดมินเพจน้องงกล่าวและทิ้งท้ายชวนให้คิด

“ไม่ใช่ว่ารัฐพึ่งพาไม่ได้แล้ว เป็นเหตุผลให้เราต้องกระทำผิดละเมิดสิทธิคนอื่น”

หมดยุค ‘เรื่องนี้ต้องถึงสรยุทธ’

ความเห็นจากทางนักวิชาการ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือเชฟหมี อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่า เพจประเภทที่เอาคนมาแฉ ขุดคุ้ยอดีต-ทะเบียนราษฎร เกิดขึ้นเพราะ “กระบวนการยุติธรรมไม่ทำงาน” 

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“คนไม่สามารถพึ่งกระบวนการยุติธรรมได้ จึงจัดการกันเอง ภาวะแบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อกลไกของรัฐไม่ทำงาน เช่น คุณไม่มั่นใจว่าไปฟ้องร้องแล้วจะไม่โดนอีกฝ่ายที่อาจเป็นผู้มีอิทธิพลกระทำกลับมา คุณจึงเรียกร้องให้โลกโซเชียลเป็นคนตัดสินแทน ซึ่งไม่มีเกณฑ์อะไรเลย เป็นลักษณะเล่นพวกมา-เล่นพวกไป เมื่อก่อนจะมีคำพูดหนึ่งว่า ‘เรื่องนี้ต้องถึงสรยุทธ’ แต่ตอนนี้มีกลไกของโลกออนไลน์

“ในทางหนึ่งโลกออนไล์มอบอำนาจบางอย่างให้คนเท่าๆ กัน แต่ปัญหาคือหลายกรณีในโลกออนไลน์ที่แชร์กันจนทำให้ฝ่ายหนึ่งเสียหายพินาศไปเลย จนกระทั่งเหตุการณ์ตีกลับมีข้อมูลใหม่ แต่ไม่เกิดการรับผิดชอบเลย ส่วนหนึ่งถ้ากลไกของรัฐใช้งานได้ดีเรื่องแบบนี้ก็จะน้อยลงด้วย”

อ.คมกฤช เห็นว่า ลักษณะหนึ่งในการใช้โลกออนไลน์คือ “การไม่รับผิดชอบ” ทำให้เกิดการใช้คำพูดสื่อถึงความรุนแรง จนอาจจะโอเวอร์กว่าสิ่งที่จะทำจริงได้

“คนพร้อมจะพูดอะไรมากกว่าความเป็นจริง ‘กระทืบมันเลย’ หรือ ‘ฆ่ามัน’ เพราะลักษณะของออนไลน์ไม่มีการบอกอัตลักษณ์บุคคลเช่นในปกติ ขณะที่สังคมมีความรุนแรงแฝงอยู่แล้ว เพียงแต่โดยปกติจะไม่ถูกนำเสนอในทางสาธารณะ มองแง่ดี เป็นไปได้ที่ความรุนแรงนี้จะอยู่แค่ในโลกออนไลน์ แต่โลกออนไลน์ก็เป็นจุดเริ่มต้นความรุนแรงจริงๆ ได้ เช่นการนัดหมายผ่านโลกออนไลน์เพื่อไปทำความรุนแรง”

และบอกว่า “โลกออนไลน์เป็นชุมชนแบบใหม่ที่จะนำไปสู่ชุมชนแบบเดิม ก่อตัวรวมตัวกันเพื่อจัดการบางอย่างก็เป็นไปได้”

จับผิดเชิง ‘ศีลธรรม’

เสี่ยงไปสู่ความรุนแรง

ทั้งนี้ เขาไม่เห็นด้วยหากเจ้าหน้าที่รัฐควรเข้ามาจัดการหรือ “ควบคุม” การใช้อินเตอร์เน็ตของคน แต่กรณีที่ผิดกฎหมาย เช่น การเปิดเผยทะเบียนราษฎร ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ถูกเปิดเผยนั้นต้องจัดการ

“ต่อให้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นคนที่สติดีหน่อย จะเห็นว่าการเอาทะเบียนราษฎรมาเปิดเผยนั้น ต้องจัดการอะไรสักอย่าง ก็เตือนกันก่อน ถ้าไม่ทำอะไรก็แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐให้ดำเนินการเป็นกรณีไป ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องมามอนิเตอร์ทุกเรื่อง แต่เป็นในกรณีที่มีการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิส่วนบุคคลจะต้องจัดการ”

ปรากฏการณ์ที่คนในสังคมออกมาพิทักษ์ “ความถูกต้อง” โดยเริ่มจับตากันเองนั้น คมกฤชเห็นว่า เกิดจากกลไกของรัฐไม่ทำงาน หรือทำงานผิดเพี้ยน ไปจับตาเฉพาะคนบางกลุ่ม

“เป็นภาวะที่เกิดในรัฐที่ไม่ทำงาน การมอนิเตอร์กันโดยเฉพาะประเด็นเรื่องศีลธรรม สะท้อนความล้มเหลวของรัฐ ขณะเดียวกันก็อันตรายมาก การมอนิเตอร์กันเองเพื่อระวังไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงระหว่างกันนั้นโอเค แต่การจ้องจับผิดนัยยะทางศีลธรรมบางอย่างที่จะนำไปสู่ความรุนแรงเสียเอง อันนี้ผมคิดว่าเป็นอันตราย เพจที่เกิดในเวลานี้จะเป็นแบบหลังซะหมด ผิดเป้าหมายหรืออุดมการณ์ในการช่วยกันดูแลโลกอินเตอร์เน็ต คนละแบบกันเลย

“ผมยืนยันว่าโลกอินเตอร์เน็ตต้องไม่ควรถูกมอนิเตอร์โดยรัฐ เป็นโลกที่มีเสรีภาพระดับหนึ่ง ส่วนการมอนิเตอร์กันเอง ผมว่ามันมีระดับความพอดีบางอย่าง ซึ่งไม่ล้ำสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ขณะที่ไม่ยุยงให้เกิดความรุนแรง จะมีระดับของการอยู่ร่วมกันในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งสังคมเราไปไม่ถึง” คมกฤชกล่าว

03
ภาพจากเฟซบุ๊กกลุ่ม “จับขโมย” ซึ่งเป็นกระแสในเปรูเมื่อปีที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้ชาวเปรูสร้างความยุติธรรมด้วยมือตัวเอง ระบุว่า “ขโมย ถ้าพวกเราจับได้ เราจะไม่ส่งตัวให้ตำรวจ แต่เราจะแขวนคอคุณเอง”

อ่านแล้วอย่าเพิ่งหมดหวังกันไปหมด เพราะผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมออนไลน์

คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งทางสังคมและกฎหมาย

สำคัญที่สุดคือ การใช้ “สติ” ก่อนกด “ไลค์” หรือ “คอมเมนต์”

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

นักธุรกิจออนไลน์สาว โร่แจ้งจับ”ผู้ช่วยผจก.แบงก์” ปลอมลายเซ็นทำประกันชีวิต


18 ต.ค. 60  ต้มตุ๋น/ หลอกลวง

น.ส.กานดา สายทุ้ม อายุ 36 ปี อาชีพทำธุรกิจออนไลน์ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่ง หลังปลอมลายเซ็นทำประกันชีวิต เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 มกราคม น.ส.กานดา สายทุ้ม อายุ 36 ปี อาชีพทำธุรกิจออนไลน์ เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.พิท

“FireEye” ชี้องค์กรในไทยเผชิญภัยคุกคามทางไซเบอร์สูงกว่าองค์กรอื่นทั่วโลก!!


20 พ.ค. 59  ภัยคุกคามออนไลน์

19 พฤษภาคม 2559 – ไฟร์อาย อินคอร์เปอเรชั่น (NASDAQ : FEYE) ผู้นำด้านการหยุดยั้งภัยคุกคามทางไซเบอร์ขั้นสูงในปัจจุบันเผยถึงผลสำรวจว่า กว่า 43% ขององค์กรในประเทศไทยตกเป็นเป้าของภัยคุกคามทางไซเบอร์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 ซึ่งอัตราดังกล่าวนับเป็นตัวเลขที่สูงเกือบ 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก (ค่าเฉลี่ยทั่วโลกคือ 15%)

กสท. เตรียมคุมคอนเทนท์ออนไลน์ Facebook Live และ YouTube จ่อเข้าข่าย OTT


25 เม.ย. 60  Social Media

ที่ประชุมกสทช. เมื่อวานนี้ มีมติให้บริการ OTT หรือ Over the Top เป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลของกสท. โดยให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ควบคุม และดูแลคอนเทนท์ออนไลน์ แต่ยังไม่สรุปว่า Facebook Live, YouTube และอื่นๆ จะเข้าข่าย OTT หรือไม่

ไมโครซอฟท์จัดงานเสวนา Microsoft Thailand Cyber Trust Experience ร่วมต่อสู้กับอาชญากรรมบนโลกออนไลน์


29 ต.ค. 58  Cyber Crime

การเพิ่มจำนวนขึ้นของซอฟท์แวร์ที่ไม่ปลอดภัยและภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงกำลังเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ทั้งในระดับปัจเจกชนและระดับองค์กรทั่วโลก ภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ตกอยู่ในความสนใจของชาวโลกอีกครั้งเมื่อมีข่าวคราวเกี่ยวกับกองบัญชาการทหารส่วนกลางของสหรัฐฯ (US Central Command) และ บริษัท โซนี่ พิคเจอร์ (Sony Pictures Entertainment) ได้ถูกกลุ่มแฮ็คเกอร์จารกรรมข้อมูล ทำให้เห็นว่าแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ซึ่งประเทศไทยเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้