Trend Micro  คาด “ปีนี้” ภัยคุกคามโลกออนไลน์เดือดกว่าปีก่อนหลายเท่า
19 ต.ค. 60 ภัยคุกคามออนไลน์ 1807

Trend Micro  คาด “ปีนี้” ภัยคุกคามโลกออนไลน์เดือดกว่าปีก่อนหลายเท่า !!

Trend Micro  คาด “ปีนี้” ภัยคุกคามโลกออนไลน์เดือดกว่าปีก่อนหลายเท่า !!

เทรนด์ไมโคร อินคอร์ปอเรทเต็ด ผู้นำด้านโซลูชั่นการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก เปิดเผยรายงานคาดการณ์ประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในชื่อ “The Next Tier – 8 Security Predictions for 2017” ซึ่งคาดการณ์ว่าปี 2560 จะเกิดการโจมตีเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างและเจาะลึกมากขึ้น โดยนักโจมตีที่มุ่งร้ายจะใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างหลากหลายเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลง

“ในปี 2560 อุตสาหกรรมด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์จะก้าวสู่ยุคใหม่หลังจากที่ภัยคุกคามของปี 2559 ได้เปิดทางให้อาชญากรไซเบอร์ใช้รูปแบบตรวจสอบช่องโหว่เพื่อการโจมตีและใช้ช่องทางการโจมตีที่หลากหลายมากขึ้น” คุณปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “วิธีการโจมตีใหม่ๆ จะคุกคามองค์กรต่างๆ มากขึ้น กลยุทธ์การใช้แรนซั่มแวร์ หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ต่างๆ มาก”

โดยในปี 2559 มีการพบช่องโหว่บนแพลตฟอร์มของ “แอปเปิล” เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก โดยมีรายงานราว 50 รายการ พร้อมด้วยบั๊ก 135 รายการ ในโปรแกรมของ อโดบี และอีก 76 รายการที่ส่งผลกระทบต่อแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ การโจมตีช่องโหว่ซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้จะยังคงมีต่อไปในปี 2560 ในขณะที่ไมโครซอฟท์พยายามปรับปรุงมาตรการป้องกันและระบบปฏิบัติการของแอปเปิลจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2559 อินเทอร์เน็ตของสิ่งของ (IoT) และอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของสิ่งของ (IIoT) จะตกเป็นเป้าหมายการโจมตีมากขึ้น โดยการโจมตีเหล่านี้จะใช้ประโยชน์จากการยอมรับอุปกรณ์ที่ถูกเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นโดยการค้นหาช่องโหว่ และระบบที่ไม่มีความปลอดภัยเพื่อทำลายกระบวนการทางธุรกิจเหมือนกับที่เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากมัลแวร์ Mirai การเพิ่มขึ้นของอุปกรณ์พกพา และระบบควบคุมจอภาพในการผลิต และสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรมจะทำให้มีการพบจำนวนช่องโหว่สำคัญๆ ในระบบเหล่านี้ที่ซึ่งเป็นภัยคุกคามองค์กร

ปัญหาด้านความปลอดภัยครั้งยิ่งใหญ่ระลอกใหม่กำลังจะซัดเข้ามาในปี 2560 นี้ ตั้งแต่การแยกร่างทำงานเป็นทีมเวิร์กของแรนซั่มแวร์ (Ransomware) เพื่อรีดเงินจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสารพัดสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้น, กลไกการโจมตีที่เลือกเป้าหมายอย่างจำเพาะ วางแผนเป็นอย่างดี และซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ, รวมทั้งการเบนเข็มออกจากเครื่องเดสก์ท็อปไปยังอุปกรณ์พกพาหรืออุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ นอกจากไวรัสเรียกค่าไถ่แล้ว การโจมตีทางจิตวิทยาอย่างอีเมล์หลอกลวงเชิงธุรกิจอย่างง่าย (BEC) ก็ถือเป็นของโปรดของอาชญากรไซเบอร์ไม่แพ้กัน เห็นได้จากการโจมตีทางจิตวิทยาครั้งใหญ่ที่ทำให้ธนาคารของบังคลาเทศเสียหายไปกว่า 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาแล้ว เรายังจะเห็นการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของแอพจาก Adobe และ Apple มากขึ้น รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ที่ระบบความปลอดภัยไม่ได้อัจฉริยะตามชื่อ เช่น การนำอุปกรณ์ IoT ที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมไปเป็นกองทัพขนาดใหญ่สำหรับโจมตีแบบ DDoS ทางด้านกฎหมายก็ดุเดือดไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกฎใหม่สดจากเตาของอียูที่บีบให้ชาติสมาชิกบังคับใช้ภายในกลางปี 2561 อย่าง General Data Protection Regulation (GDPR) ย่อมทำให้องค์กรต่างๆ ดิ้นตามเป็นไฟลนก้น จนทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่มเติมพุ่งสูงขึ้นเป็นจรวดอย่างรวดเร็ว ยังไม่นับรวมถึงความพยายามของอาชญากรกลุ่มอื่นๆ ทั่วทุกมุมโลกที่ช่วงนี้กระหายเงินมากเป็นพิเศษ และมุ่งจะเจาะถลุงเงินจากเครือข่ายองค์กรเหล่านี้แบบทุกวิถีทาง จึงถือว่านี่คือสัญญาณของยุคใหม่ ยุคกระหายเลือดและเงินทองของอาชญากรไซเบอร์ตัวร้าย ที่ต้องใช้โซลูชั่นความปลอดภัยยุคใหม่ที่วิ่งไล่ตามทัน

Trend Micro อยู่ในวงการความปลอดภัยมาแล้วมากกว่าสองทศวรรษ ด้วยการเฝ้าตรวจสอบความเคลื่อนไหวของอันตรายต่างๆ, ร่วมกับการค้นพบของทีมงาน Forward-Looking Threat Research (FTR) ของเรา ทำให้เราสามารถเข้าใจแรงขับเคลื่อนต่างๆ ที่กำหนดทิศทางของอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และนี่คือสิ่งที่เรามองโลกของความปลอดภัยในปี 2560 และแนวโน้มต่อไปในอนาคต แยกออกมาเป็น 8 หัวข้อหลักดังนี้:

  1. การเติบโตของแรนซั่มแวร์จะถึงจุดสูงสุดในปี 2560 แต่วิธีการและการเลือกเป้าหมายโจมตีจะทวีความหลากหลายมากขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด เราคาดการณ์ค่อนข้างแน่นอนว่า ปี 2560 นี้จะเป็น “ปีแห่งการรีดไถเงินจากทุกช่องทาง” ด้วยการโจมตีของแรนซั่มแวร์แบบลูกโซ่ ที่ใช้การผสานวิธีการแพร่เชื้อที่หลากลาย ร่วมกับเทคนิคการเข้ารหัสที่แก้ไขได้ยากมาก และขับเคลื่อนด้วยการสร้างความหวาดกลัวเป็นหลัก ที่เปลี่ยนหน้าต่างข้อความรีดไถแบบเดิมๆ ให้ดูเหมือนมาจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางทำเงินด้วยการบริการแรนซั่มแวร์แบบคลาวด์ หรือ Ransomware-as-a-Service ที่เปิดให้อาชญากรที่อาจไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเทคนิคมาเช่าโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่วางไว้เป็นอย่างดีแล้วสำหรับโจมตีผู้อื่นได้ ในปีที่ผ่านมานั้น มีการแบ่งปันโค้ดแรนซั่มแวร์ออกสู่สาธารณะทำนองโอเพ่นซอร์ส เปิดให้แฮ็กเกอร์สามารถนำไปดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นของตนเองได้ ทั้งหมดนี้ทำให้จำนวนตระกูลแรนซั่มแวร์มีอัตราเพิ่มขึ้นพุ่งสูงอย่างรวดเร็วมากในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนที่ผ่านมา
  2. อุปกรณ์ IoT จะมีบทบาทสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของการโจมตีแบบ DDoS โดยเฉพาะอุปกรณ์ IoT ในวงการอุตสาหกรรม (IIoT) เว็บแคมจำนวนหลายพันตัวที่ผู้คนไม่เคยนึกถึงเรื่องของระบบความปลอดภัยมาก่อนนั้น ถูกนำมาเป็นกองกำลังสำคัญในการโจมตี Mirai DDoS ที่ยิงเว็บไซต์จำนวนมาก รวมทั้งอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งหลาย อาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อที่รอการตื่นออกมาแผลงฤทธิ์ตามคำสั่งของอาชญากรไซเบอร์ได้
  3. จากความง่ายดายในการหลอกลวงผ่านอีเมล์ธุรกิจ จะเป็นตัวการที่ทำให้การโจมตีด้วยเมล์หลอกลวงเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2560 ด้วยการเจาะกลุ่มเหยื่อที่เป็นสถาบันและหน่วยงานทางการเงินทั่วโลกนั้น ทำให้การโจมตีด้วยเมล์หลอกลวงเชิงธุรกิจหรือ Business Email Compromise (BEC) อยู่ในรูปของการแฮ็กบัญชีอีเมล์ หรือหลอกลวงพนักงานเพื่อให้โอนเงินมายังบัญชีของอาชญากร  เราคาดการณ์ว่า จากความง่ายดายในการโจมตีแบบ BEC โดยเฉพาะการปลอมเป็นเมล์จาก CEO จะได้รับความนิยมจากอาชญากรไซเบอร์มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องลงทุนมากมาย แถมทำได้ง่าย ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่ซับซ้อน แต่กลับได้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากถึง 140,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
  4. การเจาะระบบกระบวนการทางธุรกิจจะเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย โดยพุ่งเป้าไปที่เหยื่อที่เป็นหน่วยงานทางการเงินเป็นหลัก จากกรณีการจารกรรมเงินของธนาคารของบังคลาเทศ ที่สร้างความเสียหายมากถึง 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น ถือว่าแตกต่างจากการโจมตีแบบ BEC ที่อาศัยจิตวิทยากับมนุษย์เป็นหลัก การเจาะระบบเชิงธุรกิจนี้เป็นวิธีที่ต้องทำเข้าความใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับขั้นตอนการทำธุรกรรมทางการเงินของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เราจึงเรียกว่าโจมตีนี้ว่า Business Process Compromise หรือ BPC การเจาะเข้าสู่ระบบชำระเงินก็สามารถชักนำให้เกิดการโอนเงินที่ไม่ถูกต้องได้ด้วยเช่นกัน หรืออาชญากรอาจจะเจาะระบบเข้าศูนย์บริหารการจัดส่งสินค้า แล้วเปลี่ยนที่อยู่จัดส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง เหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2556 เมื่อบริษัทชิปปิ้งอย่าง Antwerp Seaport ถูกเจาะระบบเพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่งยาเสพติดได้อีกด้วย (น่ากลัวมาก)
  5. Adobe และ Apple จะแซงหน้าไมโครซอฟท์ในแง่ของการเป็นแพลตฟอร์มที่พบช่องโหว่จำนวนมาก Adobe ได้แซงหน้าไมโครซอฟท์เป็นครั้งแรกในปี 2559 นี้ ในแง่ของจำนวนช่องโหว่ที่ถูกค้นพบ โดยจากตัวเลขช่องโหว่ที่ถูกเปิดเผยทั้งหมดแบบ Zero-Day ในปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ของ Adobe มีถึง 135 ช่องโหว่ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์มีแค่ 76 ช่องโหว่ นอกจากนี้ ปี 2559 ยังถือเป็นปีที่ผลิตภัณฑ์ของ Apple พบช่องโหว่สูงมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ด้วยตัวเลขช่องโหว่ที่พบเมื่อนับถึงเดือนพฤศจิกายนถึง 50 ช่องโหว่ เมื่อเทียบกับตัวเลขแค่ 25 ช่องโหว่ในปีก่อนหน้านี้ การป้องกันและอุดช่องโหว่ถือเป็นวิธีเดียวที่จะปกป้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนเพียงพอ จากช่องโหว่ต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแพทช์ และช่องโหว่แบบ Zero-day ยิ่งเราพบช่องโหว่จำนวนมากในองค์กรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะองค์กรที่ยังใช้ซอฟต์แวร์เก่าที่ถูกยกเลิกการซัพพอร์ตไปแล้ว ยิ่งทำให้การปกป้องช่องโหว่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
  6.  การชวนเชื่อทางอินเทอร์เน็ตจะเป็นเรื่องที่พบได้อย่างแพร่หลาย ในปี 2559 ที่ผ่านมานั้น เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด (46.1%) สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ นั่นหมายความว่า มีผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นก่อน ซึ่งการขาดความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล เมื่อผนวกเข้ากับกลุ่มนักกดแชร์ที่ต้องการชักจูงผู้คนให้เปลี่ยนความเชื่อ หรือยกระดับความน่าเชื่อถือของความเชื่อในกลุ่มตนเองนั้น ทำให้การทำข่าวปลอมได้รับความนิยมอย่างมาก มากจนกระทั่งความเป็นมืออาชีพในการหลอกลวงทำให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ประสีประสา ไม่สามารถแยกแยะข่าวจริงกับข่าวลวงได้
  7. การบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลฉบับใหม่ จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของแอดมินในแต่ละองค์กรขึ้นเป็นอย่างมาก กฎหมาย GDPR ซึ่งเป็นการตอบสนองของ EU ต่อปัญหาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลนั้น จะไม่ได้กระทบเฉพาะประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ยังกระเทือนถึงทุกภาคส่วนทั่วโลกที่มีการใช้, ประมวลผล, หรือจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของคนใน EU ด้วย จากกำหนดการบังคับใช้ในปี 2561 นั้น จะทำให้องค์กรถูกปรับเป็นมูลค่ามากถึง 4% ของรายรับของบริษัททั้งหมดได้ถ้าไม่สามารถทำให้สอดคล้องตามกฎหมายใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมูลค่าที่สูงมาก ๆ เลยทีเดียว
  8. ผู้โจมตีเตรียมพัฒนากลยุทธ์การโจมตีแบบใหม่ๆ ที่สามารถหลบเลี่ยงโซลูชั่นความปลอดภัยที่ใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันได้ การโจมตีที่มีการวางกลยุทธ์และระบุเป้าหมายจำเพาะนั้นเริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานที่องค์กรส่วนใหญ่ใช้งานอยู่ยังคงย่ำอยู่ที่เดิมเราจึงคาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้จะได้เห็นเทคนิคแปลกใหม่ในการโจมตีมากขึ้น ชนิดที่เราคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว

คุณคงศักดิ์ ก่อตระกูล ผู้จัดการอาวุโสด้านเทคนิค บริษัท เทรนด์ ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด

คุณคงศักดิ์ ก่อตระกูล ผู้จัดการอาวุโสด้านเทคนิค บริษัท เทรนด์ ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่ารายงานได้คาดการณ์ว่าการหลอกให้โอนเงินผ่านอีเมล์ (BEC) และปัญหาข้อมูลรั่วไหล (BPC) จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นวิธีการหลอกลวงที่ง่าย และมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก การโจมตีแบบหลอกให้โอนเงินผ่านอีเมล์อาจสร้างรายได้ให้อาชญากรไซเบอร์ได้ถึง 140,000 เหรียญสหรัฐโดยล่อพนักงานที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์โอนเงินไปยังบัญชีของอาญากร หรืออีกวิธีหนึ่งคือการเจาะเข้าไปในระบบธุรกรรมทางการเงินโดยตรงในขณะที่ระบบทำงานอยู่ แม้ว่าวิธีนี้จะทำได้ค่อนข้างยาก แต่หากทำสำเร็จก็สามารถทำเงินก้อนใหญ่ได้ ซึ่งบางครั้งอาจสูงถึง 81 ล้านเหรียญสหรัฐ

คุณคงศักดิ์กล่าวเสริมว่า “เราพบว่าอาชญากรไซเบอร์พัฒนาตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ในขณะที่แม้ว่าจะมีแรนซัมแวร์รุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในปี 2559 แต่การเติบโตนั้นก็ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป ดังนั้นนักโจมตีจะมองหาหนทางใหม่ๆ ในการใช้มัลแวร์ที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน IoT จะเปิดช่องทางใหม่ๆ ให้มีการโจมตีเพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงในส่วนของซอฟต์แวร์จะผลักดันให้อาชญากรค้นหาจุดอ่อนในรูปแบบที่ต่างออกไป”

ด้านภาพรวมทางธุรกิจ สำหรับปี 2560 นั้น คุณปิยธิดา เปิดเผยว่า “ภาพรวมธุรกิจของบริษัท เทรนด์ไมโคร(ประเทศไทย) ปี 2559 เติบโตสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ สำหรับเซ็กเมนต์ที่เติบโต ได้แก่ กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจน้ำมันและพลังงาน และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก สำหรับในปี 2560 นี้เทรนด์ไมโครจะเน้นทำตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจการเงินการธนาคาร ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ธุรกิจค้าปลีก และสถาบันการศึกษาต่างๆ พร้อมทั้งตั้งเป้ายอดขายปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้สูงขึ้น”

และเพื่อรับมือกับการหลอกให้โอนเงินผ่านอีเมล์ (BEC) และปัญหาข้อมูลรั่วไหล (BPC) ที่มีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2560 เทรนด์ ไมโคร (ประเทศไทย) ได้เปิดตัว 2 โซลูชั่นด้านการป้องกันภัยคุกคามใหม่ XGen Endpoint Security และ TippingPoint IPS ที่จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยคุกคามดังกล่าว

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

จับสาวรับโอนเงิน”ดร.จุฬาฯ”62ล้าน เผยรับแทงพนันออนไลน์ ปัดเอี่ยวร่วมตุ๋นสหกรณ์ลอตเตอรี


18 ต.ค. 60  เน็ตไอดอล

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 27 เมษายน ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. เรียกประชุมคณะทำงานเพื่อติดตามความคืบหน้าคดีที่ รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ต้องหาฉ้อโกงประชาชน ห

Microsoft เผยผลสำรวจพนักงานไทยยุคใหม่ ต้องการเทคโนโลยี Collabolation


16 พ.ค. 60  ธุรกิจ

ไมโครซอฟต์เผยผลการสำรวจ “Microsoft Asia Workplace 2020” พบว่า พนักงานออฟฟิศในประเทศไทยยังไม่รู้สึกว่าพวกเขาได้รับการเตรียมพร้อมสำหรับสถานที่ทำงานแบบดิจิทัลเท่าที่ควร

รับมือนักล่าโปเกม่อน มข.หนองคายวางกฎร่วม เฝ้าความปลอดภัย-เคารพสิทธิผู้อื่น-แก้ติดเกมส์


18 ต.ค. 60  ติดเกมส์

วันที่ 9 สิงหาคม 2559 ดร.กริช แรงสูงเนิน คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย กล่าวถึงกระแสเกมการเล่นเกมโปเกมอนโก ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคายว่า สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน ซึ่งคาดว่ากระแสการเล่นเกมโปเกมอนโก จะต